โช้กแก๊ส ถือเป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนที่หากรถมอเตอร์ไซค์ของเพื่อนๆหลายคนไม่มีติดตั้งมาให้แต่แรก เราก็มักจะหาโช้กอัพแก๊ส หรือโช้กอัพแก๊สแบบมีซับแทงค์แยกมาเปลี่ยนเข้าไป โดยเชื่อว่ามันจะช่วยให้การซับแรงสะเทือนด้านหลังจะดีขึ้นกว่าโช้กน้ำมันเดิมๆที่ติดรถมา แล้วมันดีกว่ายังไง ? มันดีกว่าในด้านไหน เรามาว่ากันเลยครับ
ก่อนอื่น เพื่อนๆต้องเข้าใจหลักการทำงานแบบคร่าวๆของโช้กอัพ (จริงๆถ้าเรียกตามสำเนียงภาษาอังกฤษเป๊ะๆ ช็อค แอบซอร์บเบอร์) ก่อนว่า ในโช้ก 1 ต้น ไม่ว่าจะเป็นแบบคอยล์โอเวอร์ (สปริงอยู่นอกกระบอกโช้ก) หรือแบบโช้กตะเกียบ (สปริงโช้กกับชุดวาล์วอยู่ในกระบอกโช้กและแกนโช้กด้วยกัน) มันต่างก็จะมีชุดสปริงที่เอาไว้รับน้ำหนัก และเป็นตัวซับแรงกระแทกต่างจากผิวถนนที่จะส่งขึ้นมายังตัวรถ และตัวโช้กก็จะมีหน้าที่เป็นตัวหน่วงจังหวะการยืดและยุบของสปริงไม่ให้เกิดขึ้นเร็วหรือช้าจนเกินไป โดยอาศัยชุดวาล์วเป็นตัวควบคุมแรงดันและอัตราการไหลของน้ำมันที่อยู่ในตัวกระบอกโช้ก
แล้วแก๊ส(ไนโตรเจน)ที่อัดเข้ามาในตัวกระบอกโช้ก เอามาทำหน้าที่อะไร ?
ปกติแล้ว หากโช้กยืด-ยุบสลับกันไปมาด้วยความเร็วระดับหนึ่ง น้ำมันที่ผ่านวาล์วควบคุมแรงดันด้านในจะยังคงสามารถไหลขึ้นลงได้โดยไม่มีอะไรมารบกวน แต่ถ้าหากโช้กยืด-ยุบสลับกันไปมาเร็วมากๆ เช่นตอนเราขี่ไปเจอถนนขรุขระรัวๆเพราะขี่เร็วมากๆ หรือรูดรถผ่านอุปสรรคเร็วๆ มันก็มักจะมีฟองอากาศเกิดขึ้นในน้ำมัน ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นเร็วและรัวมากๆแรงดันกับความหนาแน่นของน้ำมันที่ผ่านตัววาล์วก็จะผิดเพี้ยนไปจากปกติ(ไหลผ่านวาล์วง่ายขึ้น) ส่งผลให้โช้กเกิดอาการวืดเพราะไม่สามารถหน่วงจังหวะการยุบตัวและคืนตัวของสปริงได้ดีเท่าเดิม
และเพื่อป้องกัน หรือลดอาการดังกล่าว ทางวิศวกรจึงเลือกที่จะอัดแก๊สไนโตรเจน ซึ่งมีความหนาแน่นมากกว่าอากาศเข้าไปในตัวโช้ก เพื่อหวังให้มันแทรกตัวในน้ำมันแทนฟองอากาศที่เกิดขึ้นนั่นเอง ดังนั้นผลประโยชน์ที่ได้ของการอัดแก๊สเข้าไปในกระบอกโช้กก็คือ มันจะสามารถทำงานได้สเถียรกว่าในยามที่เราใช้งานรถหนักๆเมื่อเทียบกับโช้กน้ำมันธรรมดาๆ
อย่างไรก็ดี หากโช้กแก๊สที่เพื่อนๆใช้เป็นแบบ “แก๊สชาร์จ” อยู่ภายในกระบอกสูบ งานนี้คงไม่ต้องพะวงเรื่องการเกิดอาการรั่วซึมมากไปกว่าโช้กน้ำมันธรรมดาๆเท่าไหร่นัก แต่ถ้าหากเป็นโช้กแบบ “แก๊สมีซับแทงค์แยก” มันก็จะมีข้อควรระวังอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือด้วยรอยต่อระหว่างชิ้นส่วนที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้มันมีโอกาสที่น้ำมันหรือแก๊สจะรั่วออกมาจากระบบได้ง่ายกว่าด้วย (แต่จากที่ผู้เขียนเคยใช้มาก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันจะรั่วง่ายจนต้องพะวงขนาดนั้นอยู่ดี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของโช้กที่เพื่อนๆใส่เข้ามาด้วยนะครับ)
บอกตรงๆว่าไม่เลยครับ เพราะอย่างที่เราระบุไว้ ว่าการนำแก๊สไนโตรเจนมาอัดในกระบอกโช้ก จะมีประโยชน์จริงๆก็ต่อเมื่อเพื่อนๆขี่รถด้วยความเร็วระดับหนึ่ง หรือเจอหลุมรัวๆอย่างต่อเนื่องมากๆจนเกิดฟองอากาศภายในเท่านั้น หากเพื่อนๆเป็นคนที่ไม่ได้ขี่รถเร็วมากๆ หรือขี่ชิลๆ การติดตั้งโช้กอัพแก๊สที่ราคาสูงกว่าก็จึงดูจะเป็นแค่การทำให้รถดูดีขึ้นแค่เท่านั้น และเอาจริงๆโช้กเดิมๆที่ติดรถมา ทางวิศวกรของค่ายรถก็ออกแบบมาให้ทำงานได้ตามขีดความสามารถพื้นฐานของตัวรถอยู่แล้ว ถ้าหากเพื่อนๆพอใจและไม่ติดอะไร ก็ไม่มีความจำเป็นต้องอัพเกรดโช้กให้เปลืองเงินเปล่าๆ
แล้วทำไมปกติเวลาใช้โช้กแก๊ส มันมักจะซับแรงได้ดีกว่าโช้กเดิมๆติดรถล่ะ ?
สรุปแบบสั้นๆเลยคือ เอาจริงๆตัวที่ทำให้โช้กซับแรงสะเทือนได้ดีขึ้น ไม่ได้เป็นเพราะแก๊สที่เพิ่มเข้ามา แต่มันขึ้นอยู่กับการเซ็ทติ้งสปริง และการออกแบบวาล์วภายในมากกว่า ว่าถูกสร้างขึ้นมาให้ควบคุมการไหลเวียนของน้ำมันภายในได้ดีแค่ไหน ไม่เพียงเท่านั้นโช้กอัพแก๊สส่วนใหญ่ยังมาพร้อมกับฟังก์ชันที่ผู้ขี่สามารถปรับเซ็ทค่าของโช้กได้ด้วยตนเอง ดังนั้นจุดที่ทำให้โช้กอัพแก๊สแพงขึ้นและดีขึ้นจริงๆ จึงไม่ใช่แค่เพราะว่ามันมีแก๊ส แต่เป็นเพราะสิ่งต่างๆที่มากด้วยกับมันต่างหาก
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมที่นี่