ระบบสลิปเปอร์คลัทช์ถือเป็นระบบกลไกที่มีผลต่อการติดสินใจในการเลือกซื้อรถมอเตอร์ไซค์ในปัจจุบันมากรองลงมาจาก ระบบ ABS, แทร็คชันคอนโทรล, และโช้กหน้าหัวกลับ แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีน้อยคนนักที่จะรู้จักว่าเจ้าระบบาลิปเปอร์คลัทช์นี้ทำมาเพื่ออะไรและมันมีดียังไงกันแน่ ดังนั้นในวันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยเก่ี่ยวกับเรื่องนี้กันครับ
และสำหรับจุดประสงค์ในการติดตั้งชุดสลิปเปอร์คลัทช์ก็คือ “ถูกออกแบบมาเพื่อลดเอนจิ้นเบรกที่ส่งมายังล้อหลังตอนเชนจ์เกียร์ลงหนักๆ เพื่อป้องกันอาการล้อหลังล็อค โดยอาศัยการผ่อนแรงจับหรือแรงกดของผ้าคลัทช์”
โดยหากถามถึงหลักการ เราอยากให้เพื่อนๆย้อนกลับไปอ่านบทความก่อนหน้า ที่เราได้อธิบายเกี่ยวกับ “ระบบกลไกและการทำงานของชุดคลัทช์ในรถมอเตอร์ไซค์” กันก่อน และถ้าอ่านเสร็จแล้ว เราก็มาเริ่มกันเลยครับ
และจุดแตกต่างของชุดสลิปเปอร์คลัทช์เมื่อเทียบกับระบบสลิปเปอร์คลัทช์ธรรมดาก็คือ การที่ตัวเรือนคลัทช์ตัวนอก กับเรือนคลัทช์ตัวใน (ฝากดคลัทช์) จะมีการทำบ่าเฉียงทางเดียวด้านในไว้เกี่ยวกันอยู่เพิ่มมาอีกหนึ่งอย่าง ซึ่งเจ้าบ่าเฉียงตัวนี้คือกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดการสลิปเปอร์ หรือคลัทช์ไม่จับกันเต็มที่เหมือนผู้ขี่ตั้งใจอมคลัทช์ขึ้นมา
กล่าวคือเมื่อเราเชนจ์เกียร์ลงหนักๆ เอนจินเบรกของเครื่องยนต์ จะส่งแรงบิดสวนทางกับทิศการหมุนของเฟืองเกียร์ที่ส่งกำลังต่อไปยังล้อหลัง ทำให้บ่าเฉียงที่ออกแบบเอาไว้พยายามเฉือนกันออกตามแรงที่เกิดขึ้น จึงส่งผลให้เรือนคลัทช์ตัวในกับตัวนอก(ฝาคลัทช์)ถ่างออกจากกันและลดแรงเอนจิ้นเบรกจากเครื่องยนต์ไม่ให้ส่งไปยังล้อหลัง เพราะผ้าคลัทช์ไม่ได้จับกันเต็มเหมือนปกติ
นอกจากนี้ ตัวเฟืองเฉียงดังกล่าวยังให้ผลพลอยได้อีกอย่างคือ เมื่อเราเปิดคันเร่งเพื่อให้เครื่องยนต์หมุนส่งแแรงบิดผ่านเฟืองเกียร์ไปขับล้อหลัง ตัวเฟืองเฉียงในเรือนคลัทช์ที่ว่าก็จะทำหน้าที่สลับกันกับตอนเชนจ์เกียร์ คือยิ่งเครื่องยนต์หมุนแรงมากขึ้นเท่าไหร่ เฟืองเฉียงก็จะยิ่งเกียวกันแน่นมากขึ้นเท่านั้น และส่งผลให้คลัทช์กดกันแรงมากขึ้น ดังนั้นทางวิศวกรจึงสามารถลดจำนวนสปริง หรือความแข็งของสปริงคลัทช์ลงได้ ทำให้ผู้ขี่ใช้แรงในการกำคลัทช์น้อยลง หรือก็คือก้านคลัทช์จะนิ่มนวลขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง
นั่นจึงเท่ากับว่า นอกจากระบบสลิปเปอร์คลัทช์จะมีส่วนสำคัญในเรื่องการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถ เพราะมันช่วยป้องกันการล็อคของล้อหลังตอนเชนจ์เกียร์ มันยังช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานตอนเดินทางในเมืองอีกด้วย เพราะผู้ขี่ไม่จำเป็นต้องใช้แรงที่นิ้วเพื่อคลอคลัทช์เยอะเหมือนกับรถมอเตอร์ไซค์ที่ยังใช้ชุดคลัทช์แบบธรรมดาอยู่นั่นเอง
อ่าน Tips Trick อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ