Tips Trick : อัตราทดเกียร์ใน MotoGP สามารถเปลี่ยนแปลงได้กี่ชุด และทำไปเพื่ออะไร ?

0

ในการแข่งขันระดับ MotoGP ทุกๆคลาส ทางคณะกรรมการจะบังคับให้ตัวแข่งทุกคัน สามารถใช้ชุดเกียร์แบบแมนวล หรือ นักบิดต้องสับเกียร์ขึ้นลงด้วยตัวเองได้เพียงแบบเดียวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้มีการใช้ชุดเกียร์ DCT (คลัทช์คู่), CVT (เกียร์อัตราทดแปรผันได้แบบในสกูตเตอร์), และเกียร์อัตโนมัติแบบอื่นๆ โดยจะอนุโลมให้มากสุดก็แค่มีระบบควิกชิฟเตอร์ ที่ช่วยลดกระบวนการเข้าเกียร์ให้สั้นลง ด้วยการตัดจังหวะกำคลัทช์เพื่อตัดต่อกำลังออกไป (สามารถอ่านหลักการทำงานของควิกชิฟท์เตอร์ได้ที่นี่ และ อ่านหลักการทำงานของชุดเกียร์ได้ที่นี่)

gear-ratio-motogp-03
และด้วยความที่ระบบเกียร์ที่ใช้ได้มีแค่แบบแมนวล ที่ต้องต่อเกียร์กันไปทีละขั้นๆนี่แหล่ะครับ ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มันจะต้องมีเรื่องของอัตราทดของเฟืองเกียร์เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อเซ็ทอัตราทดของมันให้เหมาะกับรุปแบบสนามที่สุด แต่ทว่าทางกรรมการก็ได้กำหนดให้ทีมแข่งสามารถเลือกเฟืองเกียร์ของเกียร์ 1-6 ได้ไม่เกิน 24 คู่ (หารเฉลี่ยก็ตกเกียร์ละ 4 คู่ หรือทีมจะเลือกให้เกียร์ไหนมีเฟืองเกียร์ มากกว่า 4 คู่แล้วไปตัดจำนวนชุดคู่เฟืองของเกียร์อื่นแทนก็ได้ตามสะดวก) และบวกกับ คู่เฟืองอัตราทดขึ้นต้น อีก 4 ชุด (เฟืองของชามคลัทช์กับเฟืองเพลาข้อเหวี่ยง) ซึ่งทีมแข่งจะต้องระบุค่าอัตราทดทั้ง 24+4 ค่านี้ตั้งแต่ก่อนสัปดาห์การแข่งขันสนามแรกจะเริ่มขึ้น

gear-ratio-motogp-02
ทีนี้หากถามว่าแล้วข้อดี/ข้อเสีย ของการตั้งอัตราทดแต่ละแบบจะเป็นอย่างไร ในเบื้องต้นก็จะไม่ต่างจากตอนที่เราเคยพูดถึงเรื่องการทดสเตอร์หน้า/หลังเท่าไหร่นัก หรือจริงๆก็คือเรื่องเดียวกันเลยนั่นแหละครับ เพราะหากทีมช่างเลือกให้อัตราทดของแต่ละเกียร์ตั้งแต่ 1-6 ใกล้กัน (ค่าอัตราทดของแต่ละเกียร์เปลี่ยนแปลงไม่มากนัก) อัตราเร่งอาจจะดีก็จริง แต่ตัวรถไม่สามารถใต่ทำความเร็วสูงๆได้ ทั้งๆที่ระยะทางยังเหลือ

gear-ratio-motogp-01
ในขณะเดียวกันถ้าเซ็ทอัตราทดเกียร์ต่อเกียร์ไว้ห่างกัน ข้อดีก็จะอยู่ตรงที่นักบิดสามารถคอนโทรลตัวแข่งได้ง่ายขึ้นเนื่องจากอัตราเร่งไม่รุนแรง แถมความเร็วปลายยังสูงขึ้น แต่ก็ความไวในการออกโค้งก็จะไม่สามารถสู้รถที่มีอัตราทดเกียร์จัดกว่าได้นั่นเอง

gear-ratio-motogp-04
นอกจากนี้ด้วยความที่ในสนามแข่งขัน มักจะมีช่วงที่ใช้ความเร็วต่ำและช่วงความเร็วสูงสลับกันไป ดังนั้นด้วยการเปลี่ยนอัตราทดเฟืองเกียร์ที่เลือกแบบ เกียร์ต่อเกียร์ได้ จึงเอื้อให้ทีมช่างสามารถเซ็ทอัตราทดเกียร์ให้เข้ากับช่วงโค้งของสนามได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นช่วงที่มีโค้งเยอะๆหรือโค้งยาวๆ ก็จะเซ็ทอัตราทดเกียร์นะความเร็วในโค้งนั้นให้กว้างหน่อย เพื่อที่นักแข่งจะได้ไม่ต้องมาต่อเกียร์กลางโค้ง และพอเข้าสู่ช่วงทางตรง ซึ่งบางสนามก็ไม่ได้จะมีทางตรงยาวเท่าไหร่นัก อย่างเฆเรซ และซิลเวอร์สโตนที่กำลังจัดแข่งอยู่ในขณะนี้ ทีมช่างก็จะเซ็ทอัตราทดเกียร์ปลายๆ 5-6 ให้ชิดกันไว้หน่อย เพื่อเพิ่มอัตราเร่งแทน

ขอบคุณข้อมูลจาก MotoGP

อ่านข่าวสาร MotoGP เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

Background EXP in Automotive journalists more than 10 Years Writer & Test Driver @Pantip Garage 2018-Present @9carthai 2015- 2017 @Torque & VIPStyle Magazine 2015 @Autospinn 2012-2015 @GTmania.tv 2009-2010

error: Content is protected !!