หนึ่งในบททดสอบแรกของการขับมอเตอร์ไซค์ใหญ่ที่หลายๆคนมักเจอกัน คงหนีไม้พ้นเรื่องการใช้คลัทช์ โดยเฉพาะเรื่องของ “ช่วงระยะการทำงานของคลัทช์” ซึ่งเราเชื่อว่าคงมีเพื่อนหลายคนไม่น้อยที่มึนงงกับมันอยู่พักใหญ่แน่ๆถ้าหากพึ่งเคยขับรถคลัชท์มือครั้งแรก และในคราวนี้เราก็เลยจะมาแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการฝึกหาช่วงคลัทช์ดังกล่าวนี้ให้เพื่อนๆได้ทราบในบทความ Tips Trick ครั้งนี้กันครับ
แต่ก่อนที่เราจะให้เพื่อนๆหาในเชิงปฏิบัติ เราขอทวนถึงหน้าที่ของคลัทช์กันก่อนว่ามันถูกสร้างมาเพื่ออะไร ซึ่งในจุดๆนี้หลายๆคนก็คงตอบได้อยู่แล้วว่ามันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวตัดต่อกำลังระหว่างเครื่องยนต์ก่อนที่จะส่งไปยังชุดเฟืองเกียร์เพื่อขับชุดโซ่เสตอร์แล้วลงต่อไปยังล้อหลัง โดยเราสามารถสั่งการคลัชท์ได้จากก้านคลัทช์ที่อยู่ตรงแฮนด์ฝั่งด้านซ้าย ด้วยการควบคุมง่ายๆเพียงแค่ กำ เพื่อให้คลัทช์จาก (ตัดส่งกำลัง) และ ปล่อย เพื่อให้คลัชท์จับ (ต่อกำลัง) แต่เอาจริงๆแล้วมันไม่ได้ง่ายแค่นั้นน่ะสิครับ เพราะอย่าลืมว่านี่คือระบบคลัชท์ที่มีระยะหรือช่วงในการทำงาน มีเรื่องของแรงกดหน้าคลัชท์กับฟลายวีลหรือจานถ่ายกำลังน้อยไปหามาก ไม่ใช่สวิทช์ไฟฟ้า ที่มีแค่ 2 สเต็ปในการทำงานคือ เปิด และ ปิด
โดยในส่วนของวิธีการหาช่วงเริ่มการทำงานของคลัทช์นั้น เราต้องขอย้อนอีกครั้ง (จะย้อนอะไรนักหนาเนี่ย 5555 ) หากเพื่อนๆยังจำครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับคำว่ารถคลัทช์มือได้คือการ สตาร์ทรถ แล้วค่อยๆปล่อยคลัทช์พร้อมกับเปิดคันเร่งสวนเพราะกลัวดับขณะออกตัวใช่มั้ยครับ ? ถ้าใช่ล่ะก็ ระวังตัวไว้ดีให้ดีนะครับ เพราะนอกจากมันจะทำให้เพื่อนๆไม่สามารถหาระยะเริ่มการทำงานของคลัชท์ได้แล้ว ความอันตรายของการเปิดคันเร่งสวนไปแบบนั้นก็คือ ถ้ากำลังเครื่องของรถที่ขับอยู่มีมากแล้วล้อหลังดันยึดเกาะกับพื้นถนนดี ล้อหน้าก็อาจจะลอยจนหงายท้องตั้งแต่ยังไม่ทันออกตัว หรือถ้าหากพื้นลื่น ท้ายรถก็จะปัดจนตัวเราตวัดขึ้นฟ้าแทน หรือถ้าเพื่อนๆจะบอกว่าก็คลอคลัทช์ทิ้งไว้ไม่ให้ล้อมันยกสิ ถ้าคิดอย่างนั้นล่ะก็ เตรียมตัวบอกลาคลัทช์ก่อนเวลาอันควรได้เลยครับ
ซึ่งวิิธีที่ถูกต้องในการหาช่วงระยะการทำงานของคลัชท์จริงๆ ก็สามารถทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากการสตาร์ทรถ แล้วก็ตัดความสนใจที่คันเร่งด้านขวาทิ้งไปเลยครับ หลังจากนั้นก็ไปโฟกัสแค่การค่อยๆปล่อยก้านคลัชท์ช้าๆเพียงอย่างเดียว ค่อยๆปล่อยจนกว่าจะรู้สึกว่ารถมันเริ่มเคลื่อนตัว และสามารถใช้ความเร็วที่รอบเดินเบาโดยไม่ต้องกำคลัชท์ (แต่ถ้าเป็นรถเล็กที่ไม่ค่อยมีกำลังในรอบต่ำมากนักให้สังเกตุช่วงที่รอบเริ่มตกแทนนะครับ) ซึ่งเราแนะนำว่าให้เพื่อนๆลองทำแบบนี้ซ้ำๆที่พื้นถนนราบซัก 4-5 รอบก่อนนะครับ
แต่ด้วยความที่ว่าแค่การฝึกในที่ราบแบบธรรมดาๆอาจจะไม่พอ สิ่งที่เพื่อนต้องฝึกต่อไปก็คือการจำลองหาระยะคลัทช์แบบคร่าวๆในกรณีที่เป็นทางขึ้นเนิน หรือจะเรียกว่าเป็นการฝึกหาระยะคลัทช์ในกรณีที่มีโหลดเพิ่มขึ้นก็ได้ ซึ่งไอ้ครั้นจะให้เราเอารถไปจอดนิ่งๆแล้วรั้งรถไว้บนทางเนินก็คงจะอันตรายเกินไป ดังนั้นวิธีจำลองง่ายๆคือการใช่ส้นเท้ารั้งตัวรถไว้เพื่อเพิ่มโหลดให้กับตัวรถ (ถ้าขาไม่ถึงจะใช้ปลายเท้าจิกก็ได้นะครับ แต่แนะนำว่าให้หาเพื่อนอีกคนมาช่วยประคองรถไว้ก็ดี) แล้วทำตามเสต็ปเดิมคือการค่อยๆปล่อยคลัชท์จนกว่าตัวรถจะเริ่มเคลื่อนตัว และสามารถขับได้ด้วยความเร็วที่รอบเดินเบา
หลังจากที่เพื่อนเริ่มคุ้นชินกับจังหวะเริ่มการทำงานของคลัทช์ของรถคู่ใจแล้ว เราอยากแนะนำให้เพื่อนๆลองฝึกควบคุมความเร็วด้วยการบีบปล่อยคลัชท์เพียงอย่างเดียว (ไม่ใช้คันเร่ง) แล้ววนทำอยู่อย่างนั้นบนลานจอดรถโล่งๆซักแห่งที่เพื่อนๆพอจะหาได้
โดยประโยชน์ที่ได้จากการฝึกแบบนี้นั้นหลักๆเลยก็คือมันจะทำให้เพื่อนๆรู้จักจังหวะในการทำงานของรถคู่ใจตัวเองมากขึ้น สามารถเข้าเกียร์ด้วยการกำคลัทช์เท่าที่จำเป็นได้ เพราะเพื่อนๆรู้แล้วว่าระยะกำคลัชท์แค่ไหนคือระยะที่คลัชท์จากจริงๆ ไม่ใช่เหมือนเมื่อก่อนที่ไม่รู้จังหวะการทำงานอะไรเลยแล้วอาศัยการกำสุดปล่อยสุดอย่างเดียว ซึ่งมันทำให้เสียความต่อเนื่องในการทำความเร็วไปนั่นเอง
ในส่วนของการฝึกควบคุมความเร็วที่รอบเดินเบาด้วยคลัชท์เพียงอย่างเดียว สิ่งนึงที่เพื่อนจะได้เพิ่มเข้ามาคือความสามารถในการขับซอกแซกช่วงจราจรติดขัดโดยลดความกังวลเรื่องเครื่องดับไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่ต้องมาคอยคลอคลัชท์แล้วเติมคันเร่งให้เมื่อยมือเพราะความไม่รู้อีกต่อไป เนื่องจากเพื่อนๆจะเริ่มรู้แล้วว่าถึงจุดไหนกันแน่ที่กำลังเครื่องจะเริ่มไม่ไหวแล้วดับไป
นอกจากนี้การฝึกหาระยะคลัทช์ดังกล่าวนั้น ยังเป็นวิธีทำความรู้จักกับรถแรกๆที่ผู้เขียนใช้ประจำในการทดสอบรถแต่ละคัน เพราะอย่างที่เพื่อนๆเข้าใจกันดีว่ารถแต่ละคันแต่ละรุ่นแต่ละแบรนด์มีระยะการทำงานคลัชท์ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องทำความรู้จักระยะการทำงานของคลัทช์ของรถคันนั้นให้ดีซะก่อนไม่เช่นนั้นตัวผู้เขียนเองอาจจะคุมรถพลาดแล้วลงไปนอนบนป่าหญ้าพร้อมกับรถที่พึ่งยืมมาทดสอบนั่นเองครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก Motorcycle.com
อ่านบทความ Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ