การปรับความแข็ง-อ่อนของสปริงโช้ก ถือเป็นสิ่งแรกๆที่ผู้ผลิตมักใส่เป็นออพชันติดโช้กเดิมจากโรงงานมาให้ และในขณะเดียวกันมันก็เป็นสิ่งแรกที่เพื่อนๆควรปรับเมื่อติดตั้งโช้กแต่งที่ใส่เข้าไปในภายหลังเช่นกัน ซึ่งแท้จริงแล้วมันควรจะเซ็ทอย่างไรกันแน่ ? เรามาว่าในบทความ Tips Trick ครั้งนี้กันเลยดีกว่าครับ
ก่อนอื่น ในความเป็นจริงแล้ว การเซ็ทความแข็ง-อ่อนของสปริง หรือพรีโหลด มันไม่ใช่แค่ว่าจะเซ็ทให้แข็งไว้ก่อน หรืออ่อนไปเลยตามความรู้สึกของตัวเราทั้งอย่างนั้น เพราะการเซ็ทความแข็ง-อ่อนของสปริงให้สามารถทำงานในการซับแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ จะต้องสัมพันธ์กับน้ำหนักที่รถคันนั้นๆต้องบรรทุก ทั้งน้ำหนักผู้ขี่, น้ำหนักผู้ซ้อน, หรือแม้กระทั่งน้ำหนักสัมภาระ ซึ่งแน่นอน เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสปริงต้องแข็งเท่าไหร่กันแน่ถึงจะเหมาะสม เพราะทางผู้ผลิตย่อมไม่บอกมาและเซ็ตค่าไว้กลางๆ แต่ในขณะเดียวกันเราสามารถปรับเซ็ทมันได้ด้วยการดูจาก “ช่วงยุบของโช้ก” หรือก็คือ “ค่า SAG” ที่ใครหลายๆคนน่าจะเคยเห็นหรือได้ยินผ่านตาผ่านหูมาบ้างแล้ว
โดยวิธีเซ็ทค่า SAG หลักๆแล้วเราจะมีทั้งหมดตัวเลข 3 ค่าที่ต้องหา นั่นคือ
1. Set Zero
คือ ค่าตัวเลขที่วัดความยาวรวมขณะโช้คยืดตัวสุด หรือ ระยะสโตรคก่อนยุบตัว หน่วยเป็น “มิลลิเมตร” ในโช้คหน้าแทนด้วย F1, ในโช้คหลังแทนด้วย R1
2. Free SAG
คือ ค่าตัวเลขที่วัดการยุบตัวของน้ำหนักรถที่กระทำต่อโช้คโดยที่ยังไม่มีผู้ขับขี่ ในโช้คหน้าแทนด้วย F2, ในโช้คหลังแทนด้วย R2
3. Rider SAG
คือ ค่าตัวเลขที่วัดการยุบตัวที่มีผู้ขับขี่นั่งอยู่บนรถรวมสัมภาระหรือผู้ซ้อนเเล้ว ในโช้คหน้าแทนด้วย F3, ในโช้คหลังแทนด้วย R3
*แต่สำหรับผู้ใช้ทั่วๆไป ให้เน้นการหาค่าที่ 1 คือ Set Zero ก่อนเพื่อใช้ในการคำนวนค่าที่ 3 คือ Rider SAG แค่นั้นพอ ไม่จำเป็นต้องคำนวนค่าที่ 2
โดยการหาค่า SAG
อย่างน้อยๆต้องมีเครื่องมือที่ใช้ในการวัด SAG ดังนี้
1. เทปกาว
2. ดินสอ หรือปากกา ธรรมดาๆ
3. ตลับเมตร
4. ผู้ช่วยยกรถ (อย่างน้อย 2 คน)
วิธีการหาค่า SAG
1. เช็คลมยางควรให้เป็นไปตามค่าที่ใช้จริง หรือจะให้ดีควรเป็นค่ามาตรฐานตามสเปคยาง
2. ควรรู้ค่า Preload Start ของโช้คตัวเอง (กรณีของโช้คหลังเท่านั้น หากโช้คหน้าที่เป็นชุดอัพเกรด หรือโช้คหน้า OEM ที่ปรับได้บางรุ่น ต้องถอดออกมาวัดค่า Fork Adjuster จึงขอข้ามไปก่อน) โดยดูที่รหัสสปริง 3 หลักสุดท้าย ลบด้วยค่าความยาวสปริงเมื่อล้อหลังลอย สมมุติ สปริงมีรหัส XX-XX-XX-220 นั่นคือความยาวสปริง 220 มม. พอล้อลอยเเล้ววัดความยาวสปริงได้ 210 มม. นั่นหมายความว่าโช้คตัวนี้มี Preload อยู่ที่ 10 มม.
3. ในกรณีที่โช้กสามารถปรับค่า Rebound และ Compression ได้ เพื่อความแม่นยำสูงสุด ควรคลายวาว์ลทั้งหมดให้อยู่ที่ค่ากลาง (ตามแต่สเปคโช้กที่ให้มาว่าสามารถปรับได้กี่ระดับ)
4. กำหนดจุดมาร์คสำหรับการวัดให้ถูกต้อง โดยการใช้เทปกาวแปะในตำเเหน่งที่ถูกต้องทั้ง จุดเริ่มต้นวัดระยะ และ จุดสิ้นสุดการวัดระยะ เช่นในส่วนโช้กหลัง คือแนวดิ่งจากแกนล้อ ขึ้นไปจนถึงช่วงท้ายรถ (อาจจะเป็นตำแหน่งไฟท้าย หรือไฟเลี้ยวพอดีๆ แต่ต้องเป็นแนวดิ่งที่ขึ้นไปตรงๆแบบตั้งฉาก เพื่อความแม่นยำ)
ส่วน ในโช้คหน้า หากเป็นโช้กหัวกลับ ให้ใช้ระยะบนสุด กับล่างสุด ที่แกนโช้กโผล่ออกมาจากกระบอกโช้กได้เลย แต่ถ้าเป็นโช้กหัวตั้ง ควรวัดระยะจากจุดไต้แผงคอด้านบน ลงมาถึงแนวกระบอกโช้กทางด้านล่าง
5. ให้ผู้ช่วยยกรถให้ล้อลอยจากพื้นแล้ววัดค่า SAG ตามจุดที่เราได้เกริ่นไว้ในข้างต้น ซึ่งค่าที่ได้จากการวัดครั้งนี้ จะเป็นค่า Set Zero หรือค่า F1 ไม่ก็ R1 แล้วแต่ว่าเพื่อนๆวัดโช้กไหน หน้าหรือหลัง
6. ให้ผู้ช่วย ประคองรถให้ตั้งตรงอีกครั้ง เอาขาตั้งขึ้น แล้วผู้ขี่ ก็ขึ้นนั่งบนรถด้วยท่าขี่ปกติ หรือถ้าหากจะเดินทางไกลแบบมีผู้ซ้อน ก็ให้ผู้ซ้อน พร้อมกับสัมภาระขึ้นมาอยู่บนรถด้วยกันเลย แล้วอย่าลืมขย่มรถกันสักครั้งสองครั้ง เพื่อให้โช้กได้ยุบแล้วคืนตัวจริงๆก่อน หลังจากนั้นให้ผู้ช่วยอีกคน มาวัดระยะห่างของจุดมาร์คด้านบน กับจุดมาร์คด้านล่าง ของการยุบตัวโช้กหน้าหรือหลัง ตามที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งค่าที่ได้ ให้กำหนดเป็นค่า F3 หรือ R3 แล้วแต่ว่าเพื่อนๆวัดโช้กไหน หน้าหรือหลัง
*โดยสิ่งที่ต้องระวังคือห้ามผู้ช่วยถ่ายเทน้ำหนักลงสู่รถเด็ดขาด มีหน้าที่แค่ช่วยประคองรถให้ตั้งตรงเท่านั้น เนื่องจากจะทำให้ค่าที่วัดได้ซึ่งเป็นสเกลละเอียดระดับ มิลลิเมตร คลาดเคลื่อน
7. เมื่อได้ค่า “Set Zero” F1/R1 กับ ค่า F3/R3 แล้ว ก็ให้เข้าสูตรคำนวนง่ายๆดังนี้
– โช้คหน้า (Front fork)
SET ZERO = F1
FREE SAG = F1-F2
RIDER SAG = F1-F3
– โช้คหลัง (Rear Shock)
SET ZERO = R1
FREE SAG = R1-R2
RIDER SAG = R1-R3
8. เมื่อได้ค่า Rider SAG แล้ว ก็ให้นำเลขที่ได้มาเปรียบเทียบกับตารางค่า Rider SAG ที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน ซึ่งหลักๆแล้ว ก็ควรจะอยู่ในช่วง 25-35% ของช่วงยุบตัวโช้กตัวนั้นๆ หรือถ้าไม่เช่นนั้นตารางที่เพื่อนๆเห็นอยู่นี้จะเป็นตัวอย่างตารางสูตรของโช้กแต่งที่คำนวนไว้แล้วจาก YSS อีกหนึ่งผู้ผลิตระบบกันสะเทือนสัญชาติไทย ดังไกลระดับโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่า SAG ที่เหมาะสมนั้นไม่ได้มีค่าเดียว แต่จะมีหลายค่ามากๆตามประเภทของตัวรถ
โดย Remark ในตาราง คือ ขอบเขตของค่า SAG ที่ผู้ขี่สามารถปรับเซ็ทได้ เช่น ในบรรทัด Racing ค่า Remark 30-50 มิลลิเตร แล้ว เราคำนวนค่า Rider Sag ได้ 40 มิลลิเมตร เท่ากับว่านี่คือกลางๆ, ถ้าวัดได้ 30 มิลลิเมตร คือค่อนไปทางแข็ง เนื่องจากโช้กไม่ค่อยยุบตัว, หรือถ้าวัดได้ 50 มิลลิเมตร คือค่อนไปทางนิ่ม เนื่องจากโช้กยุบได้ค่อนข้างมาก, ถ้าเกินไป 60 มิลลิเมตร คือนิ่มมากๆจนโช้กยันได้ง่ายๆ หรือถ้าวัดได้ 20 คือแข็งจัดๆทำให้โช้กไม่ยอมซับแรงกระเด้งกระดอนกันไปอีก เป็นต้น
*ตารางที่เพื่อนๆเห็นอยู่ตรงนี้ เป็นตารางค่า SAG ที่เหมาะสมสำหรับการปรับบเซ็ทโช้กจาก YSS เท่านั้น เนื่องจากแต่ละผู้ผลิต ก็จะมีการออกแบบโช้ก ความแข็งสปริง และชิ้นส่วนภายในต่างกันออกไป
โดยหากเพื่อนๆสนใจผลิตภันฑ์โช้กแต่งจากทาง YSS Thailand สามารถติดต่อตัวแทนจำหน่าย YSS ใกล้บ้านได้เลย หรือ จะซื้อทางร้านค้าออนไลน์
นอกจากนี้ ยังต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เพจ YSS-Thailand
ขอบคุณข้อมูลจาก YSS Thailand
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมที่ได้ที่นี่