กระจกมองข้าง หรือ กระจกมองหลัง สิ่งประดิษฐ์สุดแสนวิเศษชิ้นหนึ่งในวงการยานต์ ที่ช่วยให้เราสามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ด้านหลังได้ขณะขับรถ มันเป็นสิ่งของที่ไม่ได้มีหลักการทำงานอะไรที่ซับซ้อน แต่กลับมีประโยชน์อย่างน่าเหลือเชื่อ ช่วยให้ผู้ใช้รถปลอดภัยบนท้องถนนมานานนับร้อยปีโดยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้แต่กล้องมองหลังยุคใหม่ก็ยังไม่สามารถทดแทนได้ วันนี้เราเลยจะพามาดูประวัติแบบย่อของมันกัน
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าก่อนว่า “กระจกมองข้าง” นั้นถือเป็น “เทคโนโลยีจากสนามแข่ง” ที่คิดค้นโดย Ray Harroun นักแข่งรถจากรายการ Indianapolis 500 ที่ติดกระจกไว้ข้างตัวถังรถเพื่อระวังคู่แข่งที่จ้องจะแซงเขา ก่อนที่วิศวกรนามว่า Elmer Berger จะนำมันมาประยุกต์ใช้กับรถถนนใน 1921 ด้วยชื่อสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “Cop-Spotter” หรือ อุปกรณ์ช่วยมองตำรวจ ที่ตัวแทนจำหน่ายมักจะติดให้เป็นของแถม หรือผู้ใช้ต้องหาซื้อมาติดเอง เนื่องจากรถในสมัยนั้นยังไม่มีการติดกระจกมองข้างกัน เพราะถนนส่วนใหญ่ในเวลานั้นมักมีแค่เลนเดียว หรือสองเลนที่ขับสวนกัน ทำให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องกังวลเรื่องการแซงกันแบบในปัจจุบัน แถมรถในยุคนั้นก็ขับกันช้ามากอยู่แล้ว จึงไม่มีคนสนใจในเรื่องความปลอดภัยเท่าไรนัก อันที่จริงแล้วกระจกมองข้างในยุคแรกจะยังมีแค่ข้างเดียวในฝั่งคนขับเท่านั้น
ตลอดเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการทำงานของกระจกมองข้างเลยแม้แต่น้อย มันแทบจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สมบูรณ์แบบมาตั้งแต่ต้น มีแค่การเปลี่ยนแปลงในด้านรูปทรงของโคม หรือวิธีการปรับองศาของกระจกเท่านั้น หรือแม้แต่ระบบ Blind spot นั้นก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยีแยกที่ช่วยเติมเต็มช่องโหว่ในจุดบอดของกระจกเท่านั้น แต่ยังคงเป็นการทำงานร่วมกับกระจกมองข้างที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่การพัฒนาหรือแทนที่แต่อย่างใด จนการมาถึงของ “กล้องมองข้าง” หรือ “กล้องมองหลัง”
กล้องมองข้างที่ถูกนำมาติดแทนที่ในตำแหน่งของกระจกมองข้างนั้นถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่างของกระจกมองข้างทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมุมมองที่จำกัด เพราะกล้องสามารถใช้เลนส์ที่กว้างกว่าเพื่อเก็บภาพได้, ลดขนาดหน้าตัดของโคมลง ช่วยเพิ่มความลู่ลม ลดการใช้น้ำมันหรือไฟฟ้า, สามารถปรับค่าความสว่างและการตัดแสง ก่อนที่จะแสดงผลภาพบนหน้าจอได้อีกด้วย แถมยังสามารถเคลือบวัสดุป้องกับฝ้าและหยดน้ำ ช่วยให้การมองไปด้านหลังนั้นชัดเจนมากขึ้น(ทำไมเราไม่ค่อยเห็นกระจกมองข้างเคลือบวัสดุพวกนี้เลย)
แต่ก็มีปัญหาอย่างนึงที่หลายคนมองข้ามไปนั่นก็คือ “ระยะโฟกัสของดวงตา” ซึ่งเรามักจะไม่มีปัญหานี้ในกรณีที่เราใช้กระจกมองข้างแบบปกติ เนื่องจากในช่วงที่เรามองกระจกมองข้าง สายตาของเราจะไม่ได้โฟกัสไปที่ตัวกระจกที่อยู่ห่างออกไปแค่ระยะมือของเรา แต่จะไปโฟกัสที่วัตถุด้านหลังที่อยู่ห่างออกไปหลายสิบเมตร เหมือนกับที่เราจะต้องโฟกัสในระยะไกลหลายสิบเมตรเมื่อมองตรงไปข้างหน้าขณะขับรถ ทำให้ตาของเราไม่ต้องพยายามปรับโฟกัสบ่อยนัก
ในขณะที่เราต้องเปลี่ยนโฟกัสหลายครั้ง เมื่อต้องมองสลับระหว่างถนนที่อยู่ห่างออกไปหลายสิบเมตร กับหน้าจอที่อยู่ห่างออกไปแค่ระยะมือเอื้อมถึง ซึ่งในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ที่สายตาเราต้องปรับระยะ มันจะทำให้เกิดช่วงเวลาที่ภาพเบลอเล็กน้อยตอนที่ตาของเรายังปรับโฟกัสไม่เสร็จ ถึงแม้จะไม่ได้ส่งผลอัตรายโดยตรงต่อการขับขี่ แต่ก็ทำให้การใช้งานรถของเรานั้นยุ่งยากขึ้นอีกเล็กน้อย ไม่ต่างจากการใช้หน้าจอแบบสำผัสในรถ ทั้งที่เทคโนโลยีมันควรจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นและซับซ้อนน้อยลง แล้วไหนจะความยุ่งยากและราคาที่ต้องจ่ายเมื่อเราต้องซ่อมมันอีก โดยแลกกับข้อดีที่ไม่ได้มีเยอะนัก(อย่างน้อยก็ในยุคนี้ แต่ค่ายรถอาจจะหาวิธีการแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้ได้ในอนาคต)
ที่มา caranddriver
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่