ชิลด์หน้าหมวกกันน็อคเต็มใบ หรือครึ่งใบ และเลนส์แว่นตาสำหรับหมวกกันน็อควิบาก ที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้ ไม่ได้มีแค่เพียงสีใส และสีเข้ม หรือสีดำเท่านั้น แต่มันยังมีเฉดสีมากมายให้เราได้เลือกซื้อ ซึ่งสีแต่ละแบบจะส่งผลถึงการมองเห็นของผู้ใช้อย่างไรบ้าง เรามาดูกันเลยครับ
– เลนส์สีใส : ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นทางข้างหน้าได้ชัดเจน เหมือนตามองในยามถอดหมวกปกติ และจะดีมากๆสำหรับการใช้งานตอนกลางคืน เนื่องจากเลนส์จะไม่ทำให้ทัศนวิสัยในการมองทางข้างหน้าแย่ลง และหากใช้ในยามกลางวันเมื่อถอดหมวกออกมา ผู้ขี่ก็ไม่ต้องพบกับอาการตาไม่สู้แสง แต่แน่นอนว่าถ้าหากวันไหนแดดแรงๆ งานนี้ก็มีแสบตาเอาง่ายๆเช่นกัน โดยเฉพาะกับหมวกที่มีการเปิดพื้นที่ด้านบนกว้างมากๆเช่นหมวกเต็มใบสำหรับลงสนามแข่งขัน (บางใบเปิดกว้างจนแสบหน้าผากเลยทีเดียว)
– เลนส์สีควัน-เลนส์สีทึบ : แน่นอนว่าประโยชน์ของมันก็จะตรงข้ามกับเลนส์ใส นั่นคือในยามกลางวันมันจะช่วยกรองแสงที่เข้ามาได้ดี แต่เมื่อถอดหมวกออก ตาก็ต้องใช้เวลาสักพักถึงจะสู้แสงได้ (ขึ้นอยู่กับความทึบของเลนส์ด้วย) และถ้าหากต้องขี่ในยามกลางคืนขึ้นมา ทัศนวิสัยในการมองเห็นก็จะยิ่งแย่ลงตามระดับความทึบของเลนส์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ด้วยคุณสมบัติการกรองแสงของมันยังทำให้โทนแสงที่เรามองเห็นตอนสวมใส่ จะค่อนไปทางโทนเย็นมากขึ้นด้วย (เห็นสีเขียวและสีน้ำเงินเด่นกว่าสีอื่นๆ แต่ก็ไม่มากอยู่ดี เพราะยังไงสีทั้งหมดก็มืดลงกว่าเลนส์สีใส)
– เลนส์ปรอทเงิน : มีคุณสมบัติคล้ายเลนส์ทึบ แต่ต่างกันตรงที่มันจะไม่ได้ใช่แค่กรองแสงเฉยๆเท่านั้น ทว่ายังช่วยสะท้อนแสงที่เข้ามาออกไปด้วย ดังนั้นมันจึงทำให้ “ความแสบตา” ของแสงที่เข้ามา น้อยกว่า การใช้เลนส์สีควันปกติๆ และแน่นอนว่ามันก็ค่อนข้างมีประโยชน์สำหรับการใช้งานในวันที่แดดจ้า แต่ก็แลกมาซึ่งทัศนวิสัยที่แย่ในการขี่ช่วงพลบค่ำเช่นกัน
– เลนส์ปรอทสีฟ้า และเลนส์ปรอทสีเขียว : จะเป็นเลนส์ที่คอยสะท้อนสีฟ้า และสีเขียวออกไป ซึ่งนั่นจะทำให้ผู้ขี่สามารถเห็นวัตถุสีแดง สีเหลือง หรือว่าง่ายๆคือภาพที่เห็นจะมีความเป็นสีโทนร้อนมากขึ้น ดังนั้นมันจึงช่วยเพิ่มทัศนวิสัยการขี่ในช่วงฟ้าครึ้ม หรือการขี่ในป่าเขาได้เป็นอย่างดี เพราะจะทำให้เราแยกวัตถุต่างๆได้ชัดเจนยิ่งขึ้น (แต่ถ้าใส่ขี่ตอนกลางวันนานๆตาก็จะล้าเอาง่ายๆอยู่เหมือนกันจากประสบการณ์ของผู้เขียน)
– เลนส์ปรอทสีทอง : จะให้คุณสมบัติที่ตรงกันข้ามจากเลนส์ปรอทสีฟ้า และเลนส์ปรอทสีเขียว นั่นก็คือจะสะท้อนโทนแสงสีส้ม และสีแดงออกไป แล้วให้แสงสีม่วง, เขียว, น้ำเงินเข้ามาได้มากกว่าแทน ทำให้โทนแสงที่เข้ามามีความเป็นโทนเย็นมากขึ้น เหมาะสำหรับการนำไปใช้งานในวันที่แดดจ้ามากๆ เพื่อที่มันจะได้ช่วยลดอาการตาล้าได้ค่อนข้างดี แต่ถ้าเอาไปขี่ตอนกลางคืน ความสามารถในการแยกวัตถุต่างๆก็จะด้อยลงแทนเช่นกัน
– เลนส์ปรอทสีรุ้ง : จะให้คุณสมบัติคล้ายๆเลนส์ปรอทสีทอง นั่นคือเน้นการกรองแสงสีแดง-ส้ม-เหลืองออกไป ซึ่งดูเหมือนจะกรองโทนสีเหล่านี้ได้ดีกว่าสีทองขึ้นไปอีก ดังนั้นภาพที่เห็นตอนสวมใส่จึงจะค่อนไปทางโทนเย็นค่อนข้างมาก ทำให้การขี่ในวันแดดจ้าจะมีความสบายตาเป็นพิเศษ แต่ถ้าขี่ในวันฟ้าครึ้ม งานนี้ก็อาจจะแยกมิติของพื้นถนนกับเส้นขอบฟ้า และแนวต้นไม้ข้างๆได้ยากแทน
ขอบคุณภาพจาก Shoei
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมที่นี่