Tip Tricks : เครื่องยนต์ V4 VS i4 (สูบเรียง) ทำไม MotoGP นิยม V4 แต่รถ Production นิยม i4? มาหาคำตอบกัน

0

เคยสงสัยกันมั้ยครับ ว่าทำไมตัวแข่งในการแข่งขัน MotoGP หลายๆคันทั้งของ Honda, Ducati, Aprilia, และ KTM (กำลังจะมาปีหน้า) มักจะใช้เครื่องยนต์ V4 มากกว่าที่จะใช้แบบ 4 สูบเรียง (i4) อย่างที่ Yamaha และ Suzuki เลือกใช้ ?

aragongp
และทั้งๆที่มันนิยมในการแข่งขันขนาดนั้น แล้วทำไมพวกเค้าไม่นำมาใช้กับรถ Production กัน โดยเฉพาะค่ายปีกนกที่ฉลองแชมป์โลกกันบ่อยเหลือเกินในยุคปี 2000 ด้วยรถ Prototype ที่มีชื่อประจำรุ่นว่า RCV ซึ่งมีจุดเด่นคือเครื่องยนต์ V4 ประจำตัวรถที่ให้แรงม้าเกิน 240 ตัว แต่สุดท้ายกลับใช้เครื่องยนต์ 4 สูบเรียงกับ CBR1000RR ซะงั้น ส่วน Ducati กับ KTM ก็หากินกับเครื่อง L-Twin แทน เหลือแค่เพียง Aprilia เท่านั้นที่ใช้เครื่องยนต์ V4 กับรถตลาดจริงๆของทางค่ายอย่าง RSV4

2015-Aprillia-rsv4-rf_resize
เริ่มด้วยข้อดีของเครื่องยนต์ V4 กันก่อน สำหรับเครื่องยนต์ประเภทนี้หลักๆคือพละกำลังสูงสุดที่สามารถปั่นออกมาได้ “ดุดัน” เนื่องจากมีองศาการจุดระเบิดที่เป็นเอกลักษณ์ นั่นคือมีช่องไฟในการจุดระเบิดไม่สม่ำเสมอ กล่าวคือ จะมีช่วงที่จุดระเบิดไล่เลี่ยกัน แล้วห่างไปช่วงนึง แล้วถึงจะกลับมาไล่เลี่ยกันอีกรอบ ซึ่งเหมือนกับการย้ำพละกำลังที่ได้จากการระเบิดของเชื้อเพลิงให้สูงขึ้นไปอีก แต่แลกมาซึ่งความสั่นสะท้านของเครื่องยนต์ และความดุดันที่บางครั้งก็อาจจะมากเกินไปจนคุมไม่อยู่ของแรงม้า

ภาพชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ Aprilia RSV4

ภาพชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ Aprilia RSV4

ส่วนเครื่องยนต์ 4 สูบเรียง (i4) จะเป็นการเว้นช่องไฟในการจุดระเบิดที่สม่ำเสมอ ส่งผลให้พละกำลังที่ได้มีความต่อเนื่อง นุ่มนวล ไม่กระโชกโฮกฮากแต่อย่างใด ยกเว้นเครื่องยนต์ Cross Plane ของ YZF-R1 ที่ยกมาจาก YZR-M1 ซึ่งเป็นเหมือนจุดกึ่งกลางระหว่าง V4 และ 4 สูบเรียง (ส่วนของ GSX-RR จาก Suzuki ก็เป็น 4 สูบเรียงปกตินะครับ ไม่เหมือนของทางส้อมเสียง)

และด้วยความที่ว่า เครื่องยนต์ V4 มีชุดเสื้อสูบครึ่งนึงที่ถูกแบ่งออกไปทางด้านหลัง ทำให้จุดศูนย์กลางมวลถูกย้ายไปด้านหลังตาม ซึ่งข้อดีของมันก็คือช่วยเพิ่มแรงกดไปที่ล้อหลัง ส่งผลให้มีแรงยึดเกาะที่ล้อหลังเยอะขึ้น (แต่บางครั้งอาจจะเยอะไปจนท้ายปัดออกไปตอนเปิดคันเร่งในโค้ง)

Dovizioso AssenTT
ส่วนล้อหน้าก็…ลอยครับ ใช่ครับ อย่างที่บอกไปว่าน้ำหนักกว่า 1 ใน 4 ถูกย้ายไปด้านหลัง ทำให้ไม่มีอะไรไปกดล้อหน้าให้ติดพื้นไว้ขณะเปิดคันเร่ง เราจึงเห็นได้ชัดว่ารถแข่ง MotoGP หลายๆคันที่ใช้เครื่องยนต์ V4 มักจะออกอาการหน้าเหินแทบทุกครั้งที่เปิดคันเร่งออกจากโค้ง ( Ducati จึงประเดิมด้วยการใส่ปีกหน้าเข้าไปเพื่อแก้ไขในจุดนี้ แต่สุดท้ายก็โดนแบนด์ในฤดูกาลหน้าอยู่ดี)

vr46
ส่วนเครื่องยนต์แบบ 4 สูบเรียงจะมีน้ำหนักที่กดลงมาล้อหน้ามากกว่า ซึ่งจะให้ผลตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง และเมื่อประกอบกับพละกำลังที่ออกมาในลักษณะนุ่มนวล ทำให้การทำความเร็วในโค้งอยู่ในลักษณะที่ “เอาอยู่” แถมต่อให้เปิดคันเร่งออกไปก็ใช่ว่าล้อหน้าจะลอยง่ายๆ เพราะมีน้ำหนักถ่วงไว้

เครื่องยนต์ 2017 Suzuki GSX-R1000

เครื่องยนต์ 2017 Suzuki GSX-R1000

แต่ทุกอย่างย่อมมีข้อเสีย ในเมื่อจุดศูนย์กลางมวลอยู่ด้านหน้า น้ำหนักที่เกิดขึ้นกับยางหน้าจึงมากเป็นพิเศษ ส่งผลให้การเบรกในโค้งแต่ละครั้ง ถ้านักแข่งไม่ควบคุมแรงเบรกให้ดี ก็อาจจะเกิดอาการหน้าพับไปดื้อๆ เนื่องจากยางไม่สามารถรับภาระที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป

46-rossi_Britishgp-2015
ในด้านของขนาดตัวของเครื่องยนต์ V4 ก็ค่อนข้างแคบทางด้านข้าง เนื่อจากความยาวของเพลาข้อเหวี่ยงหายไปเกือบครึ่งจาก 4 สูบเรียง ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ตัวรถดูเพรียวกว่าปกติ แต่ก็แลกกับความยาวของตัวเครื่องที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ระยะฐานล้อของตัวรถมากขึ้นตาม ทำให้การเข้าโค้งแคบๆทำได้ยากกว่าแบบ 4 สูบเรียงไปเล็กน้อยนั่นเอง (จริงๆเรื่องพวกนี้แก้ได้ด้วยการออกแบบระยะสวิงอาร์มใหม่ แต่นั่นแหล่ะครับ ถ้าเทียบที่ระยะสวิงอาร์มเท่ากัน ยังไง 4 สูบเรียงก็เข้าโค้งแคบได้พลิ้วกว่า)

กลับมาที่คำถามเดิมอีกครั้ง ว่าทำไมผู้ผลิตถึงไม่นำเครื่องยนต์ V4 มาใช้กับรถ Production กัน?

อย่างที่เราได้อธิบายไปครับ ว่าพละกำลังที่ได้จากเครื่องยนต์ชนิดนี้ค่อนข้างจะดุดันเป็นพิเศษ ซึ่งมันคงไม่ดีแน่กับการใช้งานบนท้องถนน ที่ผู้ผลิตเค้าอยากให้เราถึงจุดหมายโดยปลอดภัยเสียมากกว่าจะไปหลุดโค้งตรงใหนซักที่เนื่องจากคุมรถไม่อยู่ (และนั่นก็เป็นอีกเหตุผลที่ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่อย่าง Traction Control ถูกติดตั้งเข้ามาเพื่อการนี้)

เครื่องยนต์ Aprilia RSV4

เครื่องยนต์ Aprilia RSV4

จุดสำคัญอีกอย่างคือ สำหรับเครื่องยนต์แบบ V ทั้งหลาย(ไม่ว่าจะเป็น V4, V-Twin, L-Twin) ต่างก็ต้องใช้เสื้อสูบ ,ฝาสูบ, วาล์ว, แคมชาฟท์, โซ่ราวลิ้น, และอีกหลายๆอย่างที่อยู่ในท่อนบนของเครื่องยนต์ 2 ชุดด้วยกัน ส่งผลให้ค่าต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งมันไม่ดีกับผู้ผลิตที่อยากได้กำไร (เว้นแต่ว่าจะขายราคาแพง) และแน่นอนว่าค่ารักษาและค่าอะไหล่สูงขึ้นตามจำนวนชิ้นส่วนที่เพิ่มเข้ามา ซึ่ง 2 อย่างหลังเนี่ย มันไม่ดีต่อผู้ซื้ออย่างเรานี่แหล่ะครับ

อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านข่าว MotoGP เพิ่มเติมได้ที่นี่

Share.

About Author

error: Content is protected !!