ย้อนไปเมื่อต้นปี Ducati Panigale V4 R ถือเป็นซุปเปอร์ไบค์คันแรกที่ลงแข่งพร้อมชุดวิงเล็ทในศึก WSBK มาตอนนี้ All-New Honda CBR1000RR-R SP เองก็เตรียมลงแข่งโดยมีชุดปีกดังกล่าวติดตั้งมาไว้ด้วย และแม้ว่ารถซุปเปอร์ไบค์ทั้งสองรุ่น จะ “ใช้วิงเล็ทแบบติดตายตัว” แต่ทางคณะกรรมการ WSBK กลับเริ่มประกาศกฏที่กี่ยวข้องกับ “วิงเล็ทที่สามารถให้ตัวได้” ไปแล้วแต่เนิ่นๆเสียอย่างนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางคณะกรรมการ WSBK ได้ระบุไว้ว่า “ตัวแอโร่ไดนามิกพาร์ท หรือ วิงเล็ท จะต้องเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในตัวรถเวอร์ชันขายจริงเท่านั้น ซึ่งหากวิงเล็ทที่ติดตั้งมากับรถตอนออกโรงงานสามารถขยับ หรือให้ตัวได้ (เพื่อปรับองศาปีกให้สัมพันธ์กับความเร็ว) ตัวองศาหรือระยะที่ปีกสามารถขยับได้ก็จะต้องเท่ากับที่รถเดิมๆออกโรงงานใช้อยู่ (ห้ามน้อยหรือเกินกว่านั้นเด็ดขาด)”
ส่วนสาเหตุที่ทางกรรมการต้องรีบประกาศแต่เนิ่นๆก็เพื่อป้องกันการลักไก่ของทีมแข่งที่ใช้รถมีวิงเล็ทตายตัวออกโรงงานแล้วอยากทำให้มันให้ตัวได้เวลาลงสนามแข่ง เพื่อประโยชน์สูงสุดในการใช้งานในสถานการณ์จริง เพราะปกติแล้วถึงวิงเล็ทจะช่วยสร้างแรงกดไม่ให้ล้อหน้าลอยในช่วงความเร็วต่ำ แต่พอเข้าสู่ช่วงความเร็วสูงๆแรงกระทำที่ว่าจะกลายเป็นต้านให้รถวิ่งไปข้างหน้าได้ยากขึ้นแทน
ดังนั้นหากทีมแข่งอยากใช้ตัวแข่งที่มีวิงเล็ทแบบให้ตัวได้จริงๆ พวกเขาก็ต้องขอให้ทางผู้ผลิตช่วยสร้างตัวรถที่มาพร้อมกับวิงเล็ทแบบดังกล่าวเท่านั้น ทว่ามันก็จะไปเพิ่มต้นทุนของรถตัวขายจริงให้สูงขึ้นไปอีก ซึ่งทางค่ายจะยอมให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็สุดแล้วแต่แนวทางที่ผู้บริหารตั้งใจ
อย่างไรก็ดี หากย้อนไปก่อนหน้านี้ทาง Honda เองก็เคยออกแบบชุดวิงเล็ทแบบที่สามารถขยับตัวเองได้สำหรับ CBR1000RR-R รุ่นใหม่เพื่อจุดประสงค์ดังที่เรากล่าวในข้างต้นไปแล้ว แต่พอถึงเวลาจริง พวกเขากลับยกเลิก หรือไม่ใส่มันเข้ามาในซุปเปอร์ไบค์คันดังกล่าวอยู่ดี อาจจะด้วยความต้องการลดต้นทุน หรืออยากกั๊กของไว้ก่อนเนื่องจากยังไม่สมบูรณ์ หรือยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องรีบใช้นั่นเอง
อ่านข่าว WSBK เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ